ห้องสมุดในอนาคต

ในปัจจุบันหลายๆ ห้องสมุด หรือสำนักวิทยบริการ หรือสำนักสารสนเทศ หรือสำนักทรัพยากร หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ล้วนประสบปัญหาเรื่องผู้ใช้บริการเข้าใช้ห้องสมุดลดลง สืบเนื่องจากผู้ใช้บริการมีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรจากหลากหลายแหล่ง สืบค้นได้จากทั่วโลก แค่ผู้ใช้บริการเชื่อมโยงอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตเท่านั้น การจะค้นหาข้อมูลสำคัญจึงทำได้ง่ายเพียงแค่ไม่กี่คลิก ข้อมูลทั้งรูปแบบข้อความ สื่อวีดีโอ ไฟล์พีดีเอฟ อินโฟกราฟิกส์ หรือลิงก์ต่างๆ ก็ต่างหลั่งไหลออกมาจากกลุ่มเสิร์จเอ็นจิ้นต่างๆ ก็พร้อมจะคายคำตอบออกมาให้ผู้สืบค้น ส่วนผลลัพธ์เหล่านั้นจะสอดคล้องตามความต้องการของผู้ค้นหรือไม่ ก็จะมีการพิจารณาด้วยตัวผู้ค้นเอง

หน้าที่บรรณารักษ์ในโลกอนาคตก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม จากผู้ค้นหาแนะนำทรัพยากร อาจจะเป็นผู้สร้างเนื้อหาเพิ่มเติม เจาะแหล่งที่อยู่ทรัพยากรที่มากกว่าองค์กรที่เก็บหรือบริการหนังสือ สื่อต่างๆ เฉพาะเพียงในหน่วยงาน บางครั้งบรรณารักษ์ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นผู้ประสานงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้ที่ต้องการจะเรียนรู้ ในแนวทางที่เรียกว่า หนังสือคน หรือคนอ่านคน ทำหน้าที่จับคู่คนที่จะอ่านคนกับคนที่จะมาถ่ายทอดสาระในสิ่งที่ตนชำนาญ หรืออาจจะเปลี่ยนจากการอ่านเป็นการมาแชร์ประสบการณ์ให้กันและกันครับ

วันนี้ผมจะชวนทุกคนมาเรียนรู้เรื่อง Human Library เป็นห้องสมุดมนุษย์ หรือห้องสมุดมีชีวิต นั่นเอง เป็นอีกแนวทางที่เป็นการให้คนมาอ่านคน มาแลกเปลี่ยนกันกับคนที่อยากจะแชร์ประสบการณ์ ซึ่งทุกคนสามารถจะเอาเรื่องราวมาบริจาคให้กับห้องสมุดได้ และแชร์เล่าประสบการณ์ หรือองค์ความรู้ให้แก่กันผ่านการพูดคุย จนเกิดเป็นการต่อยอดแนวคิด สร้างแรงบันดาลใจ สร้างเครือข่ายองค์ความรู้ให้แก่กัน ไปจนเกิดเป็นแนวทางการแห่งการสร้างคนอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งเป็นการกลั่นเอาประสบการณ์ที่คนหนึ่งพบเจอมาให้อีกคนเรียนรู้ โดยอาจจะเรียนรู้กันเป็นกลุ่มหรือสองคนแลกเปลี่ยนกันก็ได้ครับ

แต่ที่แน่ๆ การที่หนังสือมนุษย์จะเอาเนื้อหาของตนเองมาบริจาคให้กับห้องสมุดหรือบรรณารักษ์ หนังสือก็ต้องบริจาคตารางเวลา และเนื้อหาสาระด้วย และทางบรรณารักษ์จะทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์หนังสือใหม่ในห้องสมุดให้แก่ผู้อ่านที่สนใจครับ เมื่อผู้สนใจเข้ามาอ่าน ในช่วงเวลาที่พร้อมหรือตรงกันก็จะมีการนัดมาเจอกันครับ แล้วจากนั้นก็นัดพบกันในห้องสมุดซึ่งเตรียมพื้นที่ไว้ให้เป็นโซนหนึ่งของห้องสมุด ซึ่งจะอ่านในช่วงเวลาที่เหมาะสมตามความต้องการในช่วงเวลา ตามแต่หนังสือและผู้อ่านจะมีตรงกันครับ

นี่เป็นแนวทางใหม่ที่โลกในอนาคตจะมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย จนเกิดเป็นการกระจายความรู้จากผู้มีประสบการณ์ ถึงผู้อยากเรียนรู้แบบเรียนตรง (Direct Learning) จะสร้างความสนุกและเพิ่มชีวิตให้กับห้องสมุดได้อีกเยอะในยุคอนาคตนี้ นอกจากจะเจอกันตรงๆ ก็อาจจะเจอกันผ่านสื่อดิจิทัลก็ได้ ผ่านช่องทางไลน์หรือการเชื่อมด้วยวีดีโอคอลก็ได้ หรือช่องทางอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมได้อีกหลายช่องทาง

แต่ที่สำคัญของห้องสมุดมนุษย์นี้ ผู้อ่านไม่สามารถจะยืมหนังสือกลับบ้านได้ครับ อิอิ เพราะหนังสือคือคนครับ เป็นหนังสือที่มีชีวิต เดินได้ พูดได้ รับฟังได้ อ่านผู้อ่านได้ครับ

เจอกันใหม่ในเรื่องเล่าถัดไปครับ

ด้วยมิตรภาพครับ

สมพร ช่วยอารีย์

ผอ.สำนักวิทยบริการ ม.อ.ปัตตานี

แสดงความคิดเห็น

Contact Us